Monday, February 20, 2012

รางวัลโรงแรมบูติกขวัญใจชาวออนไลน์

อาจจะช้าไปซักหน่อย สำหรับการประกาศผล Thailand Boutique Awards 2011 แต่ก็ไม่เป็นไรครับ เผื่อท่านผู้อ่านสนใจ เข้าใจว่าประกาศผลไปเมื่อ 20 มกราคม สำหรับที่มา กติกา วัตถุประสงค์โดยระเอียด รวมทั้งผลการประกาศรางวัลแบบสมบูรณ์ ขอเชิญท่านผู้อ่านลิงค์ไปอ่านที่เว็บได้เลยครับ www.thailandboutiqueawards.com

สำหรับการประกวด บูติกโฮเต็ล แบบนี้ เขาจัดเป็นครั้งที่ 2 โดย อยากจะให้เป็นการกระตุ้น การทำการตลาดออนไลน์ ของโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ให้มีการแข่งขันและตื่นตัว และมีกิจกรรมส่งเสริมการขาย

โดยกลุ่มที่จัดงานก็เป็น เคซ๊ที ร่วมกับกรุงเทพธุรกิจ และพันธมิตรต่างๆ และเขาใช้บรรดานักรีวิวออนไลน์ ก็คือ บรรดา blogger หรือ สมัยนี้มีคำว่า Online Influencers ร่วมทำการรีวิวและตัดสินครับ
(โอกาสต่อๆ ไปจะพูดถึงเรื่อง online influencers บ้าง)

วันนี้เรามาดูคลิปของโรงแรมที่ได้รางวัลกัน ว่าสวยขนาดไหน



รางวัล popular Vote โรงแรมบูติกขวัญใจชาวออนไลน์ Villa Maroc Resort ปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ดูคลิปแล้วคงต้องบอกว่าสวยสมตำแหน่งจริงๆ ตกแต่งสไตล์โมร๊อคโค ดูแล้วเหมือนอยู่ในต่างประเทศเลย ของตกแต่งก็นำมาจากโมร๊อคโคด้วย เพิ่งเปิดบริการเมื่อปี 2009 นี้เอง





หลับดีบางกอก Lub D Bangkok ได้รางวัล silver awards (ประมาณรองชนะเลิศ) สาขาสถาปัตยกรรมและการออกแบบเขตเมือง ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของโรงแรมขนาดเล็ก หรือคล้ายๆ service apartment hotel อยู่กลางเมืองที่ถนนเดโช สีลม การออกแบบจึงใช้ความเป็นไทยผสมกับความทันสมัย ในเมืองหลวง Bangkok Experience ชื่อห้องพักเป็นชื่อถนนต่างๆของกรุงเทพฯ โครงเหล็ก อิฐมอญ ปูนเปลือย ตามสมัยนิยมของบูติกโฮเต็ล




มาดูโรงแรมในเขตเมืองหลวงกันอีกแห่งครับ รางวัล Gold Award แนวความคิดและวัฒนธรรมเขตเมือง โรงแรมเซี่ยงไฮ้แมนชั่น ที่เยาวราช แน่นอนการตกแต่งอาคารและพนักงาน เหมือนอยู่ในยุค 1930 คงยุคเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ นั่นเอง




โรงแรมหินตก ริเวอร์ไซด์ ณ ช่องเขาขาด กาญจนบุรี รางวัล silver award อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเขตภูเขา สิ่งแวดล้อมรอบโรงแรมทำให้นึกถึงซาฟารี ในแอฟริกา มีสระน้ำแบบธรรมชาติและยังอยู่ติดแม่น้ำแคว ดูสวยงามแถมยังเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลก ไม่แปลกใจเลย ฝรั่งชอบที่นี่กันมาก


ยังมีอีกหลายที่ สวยๆ ทั้งนั้นเลย ดูแล้วก็เพลิน ลองเข้าไปดูรายละเอียดตามลิงค์ข้างบนนะครับ บูติกโฮเต็ลที่ได้รางวัลครั้งนี้ ผู้เขียนเคยไปพักอยู่ที่เดียว คือ เรือนแพ ริเวอร์แคว จังเกิลราฟท์ กาญจนบุรี ดูแล้วก็คงรู้สึกว่า เมืองไทย เรามีโรงแรมดีๆ สวยๆ เยอะทีเดียวครับ

สร้าง MV ง่ายๆ กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย




วันนี้มีเรื่องสนุกๆ ไม่ต้องคิดมากมาฝากกันครับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้เราสร้าง วิดีโอ พรีเซนเทชั่น หรือจะเรียกว่า ทำ MV ก็ได้ ครับ ทำง่ายมากครับ ทำเสร็จก็เป็นผลงานของเรา แชร์ให้เพื่อนๆทาง facebook หรือโชเชี่ยลเน็ตเวิร์คได้เลย

เข้าไปที่ tourismthailand.org แล้วต้องลงทะเบียน เขาบอกว่าล๊อคอินผ่าน facebook แต่ผู้เขียนลองหลายครั้งปรากฎว่าเข้าไม่ได้ แต่สมัครใหม่ก็ไม่เสียเวลาอะไรมากครับ กรอกข้อมูลนิดหน่อย





เข้าไปแล้วก็ทำตามขั้นตอน 1 2 3 โหลดรูป เลือกเพลง เช็คความเรียบร้อย ตอนอัพโหลดรูปขึ้นไป บางครั้งมีปัญหาเหมือนกัน ต้องค่อยๆ ทำ เป๊ะๆๆ ไม่งั้นรูปหายต้องโหลดใหม่ อ้อ เขามีให้เลือกพรีเซนเทชั่นอยู่หลายแบบ และเลือกได้ทั้งรูปถ่ายหรือวิดีโอ ผู้เขียนลองทำดูเล่นๆ เอารูปในมือถือ ใครที่มีรูปสวยๆ คงออกมาดีทีเดียว

เสร็จแล้วก็มาเลือกเพลง ก็มีให้เยอะเหมือนกัน แต่ปัญหาคือระบบเว็บและเน็ตครับ ถ้าค้าง หรือหลุด เป็นอันต้องทำใหม่ไม่มีแบคอัพ ถึงจะทำง่ายๆ แต่ในช่วงคนใช้เน็ตเยอะๆ ผู้เขียนทำติดๆ ขัดๆ อยู่หลายรอบ หวังว่าผู้อ่านลองไปทำดูคงจะสะดวกราบรื่น






เสร็จแล้ว ก็มีฟังก์ชั่นส่งให้เพื่อนทางอีเมล์ แชร์ทาง facebook หรือจะเอาโค๊ด embeded ไปแปะไว้ในเว็บหรือบล๊อก ก็ได้

ที่สำคัญ คือ MV หรือ พรีเซนเทชั่นที่ทำ ต้องเป็นไปตามนโยบายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คือเป็นเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว ประเพณี ศิลปกิจกรรมการท่องเที่ยว

Friday, January 27, 2012

SERVICE APARTMENT ฉุด HOTELS ไม่ให้ขึ้นราคา




จากการสำรวจข้อมูลพบว่า โรงแรมห้าดาวในเมืองไทย มีราคาห้องพักถูกกว่าโรงแรมระดับเดียวกันในประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง สิงค์โปร์อยู่มากทีเดียว และไม่สามารถปรับราคาให้ขึ้นสูงไปกว่านี้ด้วย


สาเหตุมาจากในตลาดมีการแข่งขันกันอย่างมาก โรงแรมระดับหรูหราด้วยกันเองก็เปิดเพิ่มขึ้นมากมาย เพื่อแย่งลูกค้าในกลุ่มคุณภาพสูง แถมเมื่อจะไปจับตลาดในกลุ่มลูกค้าระดับรองลงไป เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ กลุ่มสัมนา หรือ MICE กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เป็นกรุ๊ปทัวร์ หรือนักท่องเที่ยวที่จองห้องพักแบบออนไลน์ ผ่านระบบ E-commerce ก็จะเจอการแข่งขันแบบดุเดือด (red ocean)

ส่วนหนึ่งจากโรงแรมที่ปรับตัวตามอายุของโรงแรม เช่น โรงแรมที่เปิดมานานมากและยังไม่มีนโยบายปรับปรุง หรือเทคโอเวอร์ ย่อมไม่สามารถจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เท่ากับโรงแรมที่สร้างขึ้นใหม่ด้วยฟอร์นิเจอร์ที่ทันสมัย การบริการที่พร้อมสรรพ (คงจะหาโรงแรมแบบ The Oriental ได้ยาก) เพื่อความอยู่รอดก็ต้องเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย พูดง่ายๆ คือ ลดเกรดลง อาจจะต้องรับลูกค้าทัวร์ แบ๊กแพค หรือถ้าไม่ได้อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวก็ต้องมีการทำการตลาดมากขึ้น มีทีมเซลล์ หลายโรงแรมทำเลไม่ดี แต่มีทัวร์ลูกค้าคนไทยประเภทสัมนา กลุ่มราชการ ประชุม อยู่ตลอด ก็ว่ากันไป






อีกส่วนหนึ่งคือ พวก service apartment หรือโรงแรมขนาดเล็กที่เกิดขึ้นยังกะดอกเห็ด ทั้งในเมืองหลวงและเมืองท่องเที่ยว เพื่อตอบรับการท่องเที่ยวในยุค globelization ที่ระบบสื่อสารและขนส่งทันสมัยขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างสูง จนโรงแรมใหญ่ไม่สามารถขึ้นราคาให้สูงกว่าที่เป็นอยู่ แถมบางช่วงเช่น low season ยังต้องหาโปรโมชั่น ลดแลกแจกแถม มาเพิ่มยอดห้องพักให้โรงแรม

service apartment หรือโรงแรมขนาดเล็ก มาช่วยตอบโจทย์ของผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวยุคใหม่ ที่มักจะวางแผนการท่องเที่ยว มีการเช็คราคา วางโปรแกรม ล่วงหน้า เดินทางเอง โดยการใช้ socialnetwork เป็นแหล่งหาความรู้ต่างๆ จะจองยังไง เดินทางยังไง อ่านรีวิวคนที่ไปพักมาแล้ว

service aparment หรือโรงแรมขนาดเล็กหลายแห่งก็ประสบความสำเร็จ การท่องเที่ยวยุคใหม่ โรงแรมอาจจะไม่มี lobby ที่ดูหรูหราโอ่โถง outlet ต่างๆในโรงแรม พวกร้านอาหารจีน ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านขายของในโรงแรม ไม่ได้มีความจำเป็นอีกต่อไป ยิ่งถ้าโรงแรมอยู่ใกล้ร้านสะดวกซื้อ พวก binibar ในห้องพักตัดทิ้งไปได้เลย ลูกค้าไม่แตะ แถมเสียเวลาตอน check out

service apartment บางแห่งมีการตกแต่งอย่างสวยงาม บางแห่งใช้คำใหม่ๆ เช่น Boutique Hotel หรือโรงแรมตกแต่งสไตล์บาหลี สไตล์โมร๊อคโค เป็นต้น บางแห่งนั้นห้องพักทีขนาดใหญ่และดูดีกว่าโรงแรมเสียอีก (ตอนสร้างไม่ได้ตั้งใจว่าจะสร้างเป็นโรงแรม) แถมราคาถูกกว่า

แต่ใช่ว่า service apartment เหล่านี้จะได้เปรียบไปเสียทั้งหมด เท่าที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพัก พบว่า ถ้าเราไปพัก service apartment เป็นส่วนตัวแค่ 1-2 คน ก็ไม่ค่อยเจอปัญหาอะไร แต่ถ้าจำนวนเพิ่มขึ้นก็มักจะเจอปัญหา เนื่องจากโรงแรมขนาดเล็กเหล่านี้ ไม่ได้มีมาตรฐานเท่ากับโรงแรม ทั้งด้านโครงสร้างอาคารหรือการบริหารจัดการที่ดีพอ ไม่ได้มีแผนกต่างๆครบถ้วน

บางแห่ง มีลิฟท์แค่ตัวเดียว ซึ่งถ้าโรงแรมใหญ่จะมีลิฟท์เฉพาะของพนักงาน หรือผู้เขียนเคยไปพักที่ต่างจังหวัด check in ก็คนนี้ ยกกระเป๋าก็คนนี้ แถมเมื่อเข้าห้องพักพบว่ามีไฟหัวเตียงไม่ติด ก็เป็นคนเดียวกันที่มาทำหน้าที่ซ่อมให้

และเมื่อ service apartment รับนักท่องเที่ยวเต็มศักยภาพ ก็ยิ่งเจอปัญหามากขึ้น เช่นถ้ารับทัวร์ แต่โรงแรมขนาดเล็ก ไม่มีที่จอดรถ ปัญหาเรื่องอาหารเช้า การ check out ฯลฯ

รวมถึงปัญหาเรื่องพนักงาน โรงแรมขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ไม่ได้จ้างพนักงานที่จบโดยตรงกับสาขาที่ต้องรับผิดชอบหรือจ้างคนที่ไม่มีประสบการณ์ มาทำงานก็เห็นบ่อย เพื่อเป็นการลดต้นทุน ทางหนึ่งคือ ควรจ้างคนที่มีประสบการณ์มาบริหารและให้ความรู้กับพนักงานในระดับล่างบ้าง ไม่ควรประหยัดหรือเซฟค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เกินไป เพราะปัจจุบันนี้ การสื่อสารรวดเร็ว อาจจะมีการบอกต่อกันไปตาม social media กลายเป็นผลเสียต่อโรงแรม และคู่แข่งก็มีอยู่จำนวนมาก

Thursday, January 26, 2012

Eco-System สำหรับการท่องเที่ยว



eco-system หรือระบบนิเวศในธุรกิจการท่องเที่ยวที่ผู้เขียนจะพูดถึงเป็นคนละอย่างกับ eco-tourism ที่หมายถึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ซึ่งโอกาสต่อๆไปอาจจะได้มีโอกาสเขียนถึงบ้าง

eco-system ระบบนิเวศในธุรกิจการท่องเที่ยวที่จะพูดถึง หมายถึงความสมดุลย์ขององค์กรและกิจการต่างๆ ที่รวมกันเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ผู้เขียนเคยคุยกับผู้คร่ำหวอดในแวดวงเครื่องเสียง ชอบคำพูดประโยคหนึ่งที่เขาว่า "ธุรกิจที่ดี มันต้องโตไปด้วยกันทั้งวงการ" คือ อาจจะมีการแข่งขันบ้างก็ไม่ต้องกลัว ดีกว่าผูกขาดตลาด

คำว่า eco-system เรามักจะได้ยินในแวดวง ไอทีหรือด้านคอมพิวเตอร์ เช่น google searchengine รายใหญ่ ซึ่งมีรายได้หลักมาจากการโฆษณา ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยหรือ sme ให้มีความรู้เกี่ยวกับการทำเว็บไซด์และมีโครงการอบรมฟรี เว็บไซด์ฟรี เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจเข้ามาอยู่ในระบบ เป็นการได้ทั้งสองฝ่าย win-win
หรือระบบปฎิบัติการ android เป็นระบบเปิด ส่งเสริมให้คนนำไปพัฒนาผลิต Application







ลองมาดูในแวดวงการท่องเที่ยวบ้าง ผู้เขียนอ่านข้อมูล ในหนังสือพิมพ์บอกว่า ยอดช๊อปปิ้งของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ซื้อของที่ King Power มียอดเฉลี่ยอยู่ที่ หนึ่งหมื่นบาทเมื่อปี 2011 ที่ผ่านมา ถือว่าสูงทีเดียว นี่ยังไม่นับว่าจะต้องไปช้อปปิ้งจากกลุ่มผู้ประกอบการในระบบ ซึ่งเราทราบกันดี แต่ถ้าเรามาคิดว่า จำนวนเงินที่นักท่องเที่ยวมาใช้จ่ายต่อคนต่อทริปแล้ว สามารถกระจายรายได้ไปยังทุกภาคส่วนรึป่าว โรงแรม บริษัททัวร์ มัคคุเทศก์ ร้านค้า ร้านนวดแผนไท สปา ร้านอาหาร คนขับรถ ตลอดจนคนขายของรายเล็กรายน้อยตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้า eco-system หรือการมีระบบที่ดี มันก็คงเป็นไปตามกลไกที่ว่ามา

แต่ต้องยอมรับว่า ระบบการท่องเที่ยวของไทย ในบางตลาด โดยเฉพาะตลาดเอเชีย เราทำตลาดแบบ low-cost การที่นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นหรือใช้จ่ายต่อคนสูงนั้น ไม่สามารถบอกได้ว่าจะช่วยกระจายรายได้ต่อคนในระบบท่องเที่ยวได้ดีเท่าที่ควรจะเป็น
เช่น ทัวร์เกาหลี เขาบอกว่า ชาตินิยมมาก จะแวะร้านค้าที่เป็นของคนเกาหลี และใช้ไกด์เกาหลีเท่านั้น
หรือ ทัวร์จีน ที่มีระบบทัวร์ศูนย์เหรียญ ทางฝ่ายนี้ต้องเอากำไร จากการขายของไปโปะค่าใช้จ่าย และเอาบางส่วนแบ่งไปให้เอเยนซี่ฝั่งโน้น หรือมีการแข่งขันกันมากแบบ red ocean ทำให้บางครั้ง มีการโน้มน้าว ยัดเยียด พูดเกินจริง (hardsell)หรือขายรายการเสริม (optional tours)ในราคาแพงเกิน หรือบางเจ้าไปถึงต้องขายแบบผิดศีลธรรม จรรยาบรรณ

ขณะเดียวกันมัคคุเทศก์บางรายก็มักจะกีดกันไม่ให้นักท่องเที่ยวใช้เงินออกไปนอกระบบ โดยการโจมตีสารพัด เช่นการไปซื้อของตามข้างทาง ตลาด หรือ ห้างสรรพสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในการการ บางคนเชี่ยวกราดสามารถคาดคะเนกำหนดพฤติกรรมการใช้เงินของนักท่องเที่ยวได้

หรือคนขับแท๊กซี่สองแถว ถ้าเราคิดแต่จะ"ฟัน"นักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยการคิดแพงมากๆ
การกระทำแบบนี้ ไม่เป็นผลดีในระยะยาว ยิ่งสมัยนี้เครื่องมือสื่อสารมากมาย แล้ว เชื่อเถอะว่า มันเป็นผลเสียที่จะตามมา นักท่องเที่ยวจะไปบอกต่อๆกัน เพราะโลกนี้มันแคบลง คนที่มาก็จะเป็นนักท่องเที่ยวที่ไม่มีคุณภาพ





สุดท้ายก็ต้องบอกว่า ระบบที่ยั่งยืน หรือการทำการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (sustainable tourism)เท่านั้น ที่จะยืนระยะอยู่ได้นาน

Wednesday, January 18, 2012

online booking กับปัญหาช่วงเทศกาล



ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้พูดคุยกับคนรู้จัก และเจอในเว็บบอร์ดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากมาย เรื่องปัญหาในเรื่องการจองที่พัก โรงแรม ทัวร์ ตั๋วเครื่องบิน ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ทีเยอะที่สุดก็พวกจองห้องพักผ่านเว็บแล้วพอไรปถึง กลับไม่ได้ตามที่ตกลงกันไว้ หรือบางคนแย่ขนาดไม่ได้ห้องพักเลย หรือที่ต้องไปทะเลาะ วีนแตก หมดอารมณ์เที่ยวก็เยอะ


ผู้เขียนคิดว่า ระบบการทำตลาดออนไลน์ของโรงแรมที่พักบ้านเราก็เติบโตขึ้น มีคนจองผ่านอินเตอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่สมบูรณ์เท่าต่างประเทศ อย่างเรื่องการชำระเงิน หรือระบบโปรแกรมการจอง(ของต่างประเทศก็มีปัญหาเหมือนกัน) เช่น จากประสบการณ์ที่เคยจอง บางแห่งเป็นบ้านพักรีสอร์ตเล็กๆ มีเว็บไซด์แต่พอจองก็ต้องโอนเงินเข้าบัญชี ต้องโทรศัพท์ติดต่อคอนเฟิร์มอีกหลายครั้ง ไม่ได้รับความสะดวก






หรือที่เห็นบ่อย โรงแรมส่วนใหญ่ให้จองผ่านเอเย่นที่เราเห็นโฆษณาในเว็บไซด์ เราจองจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตแล้ว แต่ไม่มีการประสานงานที่ดี คนที่รู้อาจเป็นฝ่ายการตลาด แต่พอลูกค้าไปถึงสถานที่ พนักงานตรงนั้น ยังไม่ค่อยเข้าใจหรือไม่ทราบรายละเอียดเลย ถ้าแย่หน่อย ไปเจอห้องเต็ม พนักงานก็โบ้ยความผิด ไปยังแผนกจอง ไปยังเอเย่นกว่าจะได้ห้องพักก็ต้องรอการติดต่อ บางคนก็ฟิวขาดโวยวาย รวมถึงประเภทซื้อ vourcher แบบโปรโมชั่น จากการออกบู้ทโปรโมทการท่องเที่ยว


ถ้าเราเป็นลูกค้าสิ่งที่เราควรทำเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทำให้หมดอารมณ์เที่ยว คือ ควรจะโทรเช็คคอนเฟิร์มให้รอบคอบที่สุดก่อนการเดินทาง รายละเอียดห้องพักแบบไหน คนที่รับเรื่อง ทั้งทางสำนักงานใหญ่ และทางโรงแรมที่อยู่ต่างจังหวัด อ่านเงื่อนไขให้ชัดเจน เช่นเรื่องการยกเลิก ระงับการเดินทาง

สำหรับผู้ประกอบการแล้วผู้เขียนยืนยันว่าการทำ E-commerce หรือ Online Marketing นั้นมีความสำคัญและจำเป็นมาก ผู้ประกอบการทั้งทัวร์หรือโรงแรมต้องให้ความสำคัญและพัฒนาให้เป็นระบบที่มาตรฐานยั่งยืนในอนาคต อย่าเห็นว่าเป็นลูกค้าราคาถูก(ซื้อตอนลดราคา) และควรมีการจัดการที่ประสานงานกันอย่างจริงๆจัง สิทธิประโยชน์ที่จะมอบให้ (เช่นจากแคมเปญใน social network)ที่ต้องให้จริง ลดจริง แจกจริง อย่ามองข้ามกระแส word of mouth การบอกต่อใน new media



โอกาสต่อๆไป ผู้เขียนคงได้มีโอกาสนำเรื่องราวการทำ internet marketing ของธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรมมาเล่าให้ฟังกันครับ

MICE กลยุทธ์การเป็นศูนย์กลางแห่งการจัดนิทรรศการ


หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยเริ่มแสดงบทบาทและศักยภาพในด้านเป็นแม่งานการจัดนิทรรศการและการประชุมนานาชาติมากขึ้น หรือที่เรียกว่า MICE ซึ่งมาจาก Meeting, Incentive, Convention and Exhibition อย่างตอนนี้ก็มีการพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติที่เชียงใหม่ และงาน BOI 2012 ที่เมืองทองธานี

เราพยายามผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้าน MICE ของเอเชีย ถึงแม้จำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE จะมีจำนวนน้อย แต่จะมีกำลังซื้อมากกว่านักท่องเที่ยวปกติ 2 เท่า หรืออาจจะเรียกการท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้อีกว่า Event Tourism การท่องเที่ยวเชิงมหกรรม หรือ Business Tourism การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะอยู่โรงแรมที่มีราคาปานกลางถึงระดับห้าดาว และใช้จ่ายเงินมากกว่าพวกนักท่องเที่ยวแบบประหยัด ถือเป็นการกระจายรายได้สู่ภาคการท่องเที่ยวด้วย






นอกจากการมาประชุมสัมนาหรือการจัดนิทรรศการแล้ว ตัวรูปแบบของงานเองส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นการ กระตุ้นให้เกิดการลงทุนหรือการท่องเที่ยวในอนาคต ถ้าจัดงานได้ประทับใจและประสบความสำเร็จแล้ว จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างมากมาย เหมือนที่สิงค์โปร์ ฮ่องกง ทำมาก่อนเพราะเชาไม่มีศักยภาพดึงดูดนักท่องเที่ยวในด้านภูมิประเทศธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น
เป็นที่ทราบกันดีว่าคนไทยมีความชำนาญด้านการบริการต้อนรับขับสู้ จัดงานนานาชาติต่างๆ ได้รับคำชมเชยมากมาย แต่สำหรับงานในสเกลใหญ่มากๆ อย่างเช่น ถ้าเราจะจัดงาน Expo หรือเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส์แล้ว ผู้เขียนคิดว่า ยังต้องพัฒนาปัจจัยสำคัญอีกมากมาย





ทั้งด้านตัวบุคลากร กลยุทธ์ ศูนย์จัดนิทรรศการที่ทันสมัยสามารถแข่งกับต่างประเทศได้ หรือด้านที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ อย่างเช่น ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบการสื่อสารทันสมัย ระบบถนน ทางด่วน รถไฟฟ้า การขนส่งต่างๆ ซึ่งผู้เขียนคิดว่า เรามักจะมาตายเอาด้วยเรื่องพวกนี้ มักจะทำไม่ทันหรือเกิดปัญหาเสมอ

Monday, December 26, 2011

คนทำงานด้านบริการ ต้องมีความเสียสละ

นอกจากจะต้องมี service mind เป็นคุณสมบัติแล้ว คนที่อยู่ในแวดวงการโรงแรม การท่องเที่ยว หรืองานบริการด้านอื่น ต้องถือว่าเป็นผู้ที่่จะต้องเสียสละเป็นอย่างมาก

ในช่วงหยุดยาวปีใหม่ หรือช่วงเทศกาล ที่คนอื่นท่องเที่ยวกันอย่างมีความสุข คนที่มีอาชีพบริการนอกจากจะไม่ได้เที่ยวแล้ว ยังเป็นช่วงที่ยุ่งที่สุด และคนทำงานด้านนี้ มักจะมีเวลาไปเที่ยวกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงน้อยมาก เพราะเวลาหยุดก็ไม่ตรงกับคนอื่น หลายคนบางครั้งก็น้อยใจและท้อใจก็มี (ยังไม่นับบางงานก็ไม่ได้มีเงินเดือนโบนัสและสวัสดิการแบบงานด้านอื่นหรือชั่วโมงทำงานมากกว่า)









ผู้เขียนเคยทำงาน เป็นหัวหน้าร้านขายซอฟแวร์ด้านบันเทิง ซึ่งเปิดอยู่ในห้างสรรพสินค้า(ต้องเปิดทุกวัน) ก็ถือว่าเป็นอาชีพบริการเหมือนกัน เวลา recruit สัมภาษณ์คนเข้าทำงาน ถึงจะเน้นถามว่า ทำงานด้านนี้หยุดไม่ตรงกับเพื่อน เทศกาลไม่ได้หยุด ทำได้ไหม ส่วนใหญ่ก็บอกว่า สบาย ไม่มีปัญหา (เพราะกลัวไม่ได้งาน)

แต่พอทำไปก็ลืม ถึงช่วงเทศกาลก็มักจะเจอปัญหา คนมาทำงานไม่พอทุกที บางคนขาดดื้อๆ บางคนหยุดเพิ่มจากวันหยุด บางคนก็อ้างเหตุผลสำคัญ (บางเคสแค่อ้างแต่แอบไปเที่ยวก็มี)บางคนทำมานานก็เก๋าก็มีสิทธิหยุดได้ ต้องขอร้องก็มี บางคนรู้ว่าทำงานไม่มีอนาคต ก็ขาดงาน อยากตัดเงินก็ตัดไป



นึกออกอีกตัวอย่างนึง ที่พัทยา ร้านนวดแผนโบราณ ผู้เขียนเห็นพนักงานนวดวัยกลางคน กำลังร้องเพลงคาราโอเกะอย่างสนุกสนานข้างร้าน คงมีดื่มด้วย เพราะเป็นช่วงสงกรานต์ พอทัวร์เข้า พนักงานในร้านมาตามให้ไปทำงาน หมอนวดคนนี้กลับปฎิเสธ เพราะกำลังสนุกได้ที่ พอมีคนมาตามอีกสองครั้ง แกก็บอกว่า ไม่ทำแน่นอน จะหักเงินหรือว่าจะต้องให้จ่ายเงินอะไรเดี๋ยวจะไปจ่ายแต่ไม่นวดแล้ว (กำลังสนุก) ทำเอาเจ้าของร้านต้องปวดหัวอย่างหนัก






หรือคนเป็นมัคคุเทศก์หรือไกด์ บางคนคิดว่าสบาย ว่าช่วงโลว์ทำงานอย่างนึง ช่วงไฮ ทำอีกทีนึง หรือทำหนักช่วงโลว์แล้วไปเที่ยวช่วงไฮ แต่ในสภาพความเป็นจริง บางทีก็ทำได้ยาก ช่วงงานเยอะก็ต้องเหนื่อยช่วยบริษัท พอช่วงงานน้อยบริษัทจะได้ให้งานเรา แบบนี้เป็นต้น



หลายท่านที่อ่านบล๊อกนี้อาจจะบอกว่า อยู่ที่การบริหารการจัดการ ถ้าทำดี สร้างกฎให้เข้มแข็งก็น่าจะแก้ปัญหาได้ แต่บางครั้งกิจการที่ไม่ได้ใหญ่มาก ก็ต้องใช้ น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการก็ต้องการความร่วมมือและไมตรี ความเสียสละ หรือ service mind ของลูกน้องเหมือนกัน อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังและสร้างกัน บางคนพอทำงานแล้วสิ่งเหล่านี้ก็ค่อยๆหายไป

ถ้าคุณต้องหยุดเที่ยวกับเพื่อนบ่อยๆ เหมือนคนในอาชีพอื่นทำได้ ก็คงทำงานบริการยาก หรือบางคนพอรู้ก็ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำกี่ปี (ช่วงที่ทำงานอยู่จะได้เที่ยวน้อยลง)

แต่ผู้เขียนก็รู้จักอีกหลายคน ที่ทำงานด้านบริการ อย่างทำงานห้างก็ยังทำมาเป็นสิบปี หรือพนักงานนวดแผนไทย ที่ทำงานไม่หยุดเลยทั้งปี และมีความสุขกับการทำงานบริการ โดยไม่ได้คิดว่า ตนเองจะเสียเปรียบด้านผลประโยชน์ คนเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้ที่มีความเสียสละ และมี service mind อย่างแท้จริง (ขออภัยรูปในบล๊อกนี้อาจจะไม่สัมพันธ์กับเนื้อหา)